Dentalland-HatYai

ศัลยกรรมช่องปากและใบหน้า

การถอนฟัน สาเหตุที่ควรถอนฟันการถอนฟันที่ถูกขั้นตอนและปลอดภัยต้องให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาเท่านั้น เพื่อวางแผนการรักษา เพราะการถอนฟัน คือ การสูญเสียฟันธรรมชาติไปอย่างถาวร ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากฟันผุมากจนไม่สามารถแก้ไข ซึ่งสาเหตุที่ต้องถอนฟันเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ได้แก่

1)  ฟันผุ เกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากรวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลาย สะสมกันจนเป็นคราบเหนียวที่เราเรียกว่า คราบฟัน คราบจุลินทรีย์ หรือคราบแบคทีเรีย จะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นบนฟันของคุณ และเจริญเติบโตด้วยน้ำตาลในอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทานเข้าไป และจะเกาะอยู่บนผิวของฟัน แบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งให้เป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟัน จนก่อให้เกิดเป็นรู เริ่มจากขนาดเล็กมาก ๆ ลุกลามใหญ่ขึ้น โดยอาการของฟันที่เนื้อฟันจะถูกทำลายลงไป เป็นการทำลายตั้งแต่ผิวฟันลึกลงไปยังเนื้อเยื่อจนถึงโพรงที่ตัวฟัน และแน่นอนหากไม่ได้รับการรักษาจะลุกลาม ขยายใหญ่และลึกขึ้น เมื่อถึงเวลาจะเกิดความเจ็บปวดและต้องสูญเสียฟันไป

2) ถอนฟันร่วมกับการจัดฟัน ผู้ที่กำลังจะถอนฟันร่วมกับการจัดฟันมีช่องว่างในการจัดฟันจัดเรียงตัวของฟันใหม่ ทันตแพทย์จะวางแผนการรักษาว่าจะต้องถอนฟันซี่ไหนบ้าง จำนวนกี่ซี่ ขึ้นอยู่กับลักษณะฟันของผู้ที่จะจัดฟัน รวมถึงการถอนฟันซี่สุดท้ายหรือฟันคุดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการดันฟันซี่ข้างเคียง และ การเรียงตัวของฟันในอนาคต 

3) ปัญหาโรคเหงือก โรคเหงือกเป็นปัญหาในช่องปากที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยอาการอักเสบของเหงือกที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บนตัวฟัน เมื่อแปรงฟันไม่สะอาด จะเกิดการสะสมเป็นคราบของแบคทีเรียหรือที่เรารู้จักดีก็คือ คราบหินปูน คราบพลัค ที่ก่อตัวขึ้นทั้งบนฟันและช่องว่างระหว่างซี่ฟัน เกิดอาการบวม ระคายเคืองของเหงือก หากไม่รักษาอาจทำให้ลุกลามติดเชื้อไปยังกระดูกที่ยึดกับฟัน หรืออาจต้องถอนฟันออกด้วยเช่นกัน

4) มีถุงน้ำหรือหนองที่ปลายรากฟัน กรณีมีถุงน้ำหรือหนองที่ปลายรากฟัน ซึ่งเกิดจากมีเชื้อแบคทีเรียลงไปที่โพรงประสาทฟันถึงปลายรากฟันที่อยู่ลึกสุด ทำให้มีหนองที่ปลายรากฟันในกระดูกขากรรไกร จะมีอาการบวม ปวด หากไม่รีบรักษาอาจจะทำให้ลุกลามไปฟันซี่อื่นได้ รวมถึงอาจทำลายกระดูกบริเวณปลายรากฟันได้เช่นกัน

5) อุบัติเหตุ การเกิดอุบัติเหตุบริเวณฟัน เช่นฟันโดนกระแทกอย่างรุนแรง ฟันหักเนื้อฟันเหลือน้อยเกินไป ไม่สามารถแก้ไขด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันได้ ฟันร้าวถึงรากฟัน ลักษณะการเกิดปัญหาฟันเหล่านี้มีความจำเป็นต้องถอนฟัน

การผ่าฟันคุด เป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ พบบ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่สุดท้ายอาจโพล่ขึ้อยูนักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ สาเหตุที่ต้องผ่า หรือ ถอนฟันคุดออก

1) เพื่อป้องกันอาการปวดจากการที่ฟันกรามซี่ที่ 3 ขึ้นไม่ได้เนื่องจากเบียดฟันซี่ข้างๆ อยู่ หรือติดกระดูกเรมัส ทำให้เกิดแรงดันบริเวณขากรรไกรขึ้น บางรายที่รากฟันคุดยาวไปกดหรือเกี่ยวคลองประสาท และเส้นเลือดที่อยู่ในขากรรไกร ทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท และเส้นเลือดนั้นได้ หากไม่รีบเอาออก หรือทิ้งไว้นาน หรือในฟันคุดบนถ้าทิ้งไว้นานโพรงไซนัสย้อยต่ำลงมา การผ่าฟันคุดออกอาจทำให้เกิดรอยทะลุระหว่างช่องปาก และโพรงไซนัสได้

2) เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกนั้นแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด และบวมเป็นหนองมีกลิ่นมาก ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง บางรายถ้าเหงือกอักเสบมาก และฟันคู่สบงอกยาวลงมากัดโดนเหงือก จะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมาก

3) เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่ 2 ที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่ บางรายที่เป็นมาก ๆ อาจจะต้องเอาฟันทั้ง 2 ซี่นี้ออกเลยทีเดียว

4) เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมาจะทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป ในรายที่ฟันข้างเคียงยังไม่ผุ การผ่าฟันคุดล่าช้าเกินไปจะทำให้กระดูกหุ้มรากฟัน และรากฟันซี่ข้างเคียงถูกทำลายหายไปอาจจะกระทบกระเทือนต่อการมีชีวิตของฟันซี่นั้นไปด้วย

5) เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอกฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำแล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบ ๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันมักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียง หรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าพบ และรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว ช่วยลดการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก ๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออกทำให้เสียรูปหน้าบริเวณนั้นได้

6) เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรจะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อนเมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทกกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย

การผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน คือ การผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อปรับตำแหน่งของขากรรไกร ร่วมกับการจัดฟันเพื่อช่วยแก้ไขและปรับปรุงโครงหน้าที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นการรักษาที่แบ่งเป็น 2ส่วน คือ การรักษาโครงสร้างใบหน้าขากรรไกร และ รักษาการสบฟันที่ผิดปกติ โดยผู้ที่มีความผิดปกติของกระดูกขากรรไกรบนและล่าง ได้แก่ ใบหน้าส่วนกลางสั้น ใบหน้าส่วนกลางยาว คางเบี้ยว คางยื่นยาว หรือ ใบหน้าไม่สมมาตร ซึ่งการจัดฟันเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดร่วมด้วย เพื่อให้กระดูกขากรรไกรบนและล่าง อยู่ในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสม โดยจะเป็นการวางแผนการรักษาร่วมกันระหว่างทันตแพทย์ผ่าตัดและทันตแพทย์จัดฟัน