Dentalland-HatYai

ทันตกรรมโรคเหงือก

เหงือกอักเสบ โรคเหงือก (Gum Disease) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมตัวของคราบพลัค หรือคราบจุลินทรีย์ ที่ประกอบด้วยแบคทีเรียและคราบอาหารพวกแป้งและน้ำตาลที่เกาะบนผิวฟัน จากการทำความสะอาดฟันที่ไม่ดีพอ ทำให้คราบเหล่านั้นกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียส่งผลให้แบคทีเรียเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นและเมื่อแบคทีเรียปล่อยกรดและสารพิษออกมากระตุ้นให้เกิดการอักเสบ

อาการของโรคเหงือก อาจแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้

1) โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระยะแรกและมักส่งผลกระทบต่อผิวเหงือก โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของเหงือกและฟัน คนไข้อาจมีเลือดออกที่เหงือกขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน มีอาการกดเจ็บที่เหงือก และเหงือกบวมแดง ทั้งนี้ เหงือกอักเสบสามารถรักษาได้โดยการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดแบคทีเรียและคราบพลัคบนผิวฟัน ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นในเวลาต่อมา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

2) โรคปริทันต์อักเสบ หรือ โรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ (Periodontitis) เกิดขึ้นเมื่อภาวะเหงือกอักเสบไม่ได้รับการรักษา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดร่องลึกระหว่างเหงือกและรากฟัน รวมทั้งอาจเกิดการสะสมของแบคทีเรียที่บริเวณนั้น ๆ จนเนื้อเยื่อและกระดูกขากรรไกรที่ยึดเหงือกและฟันเอาไว้ด้วยกันได้รับความเสียหาย และทำให้สูญเสียฟันได้ในที่สุด

การรักษา การรักษาโรคเหงือก ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาด้านโรคเหงือก หรือ ปริทันตแพทย์ (Periodontist) จะมุ่งเน้นด้านการรักษาโรคปริทันต์หรือโรคเหงือก ซึ่งโดยทั่วไปมักจะหมายถึงโรคเหงือกอักเสบและโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ รวมถึงการทำศัลยกรรมเหงือกและการปลูกถ่ายเหงือก

1) การเกลารากฟันและขูดหินปูน เป็นการขจัดคราบพลัค หรือคราบหินปูนออกจากบริเวณฟันและใต้รอยต่อเหงือกโดยใช้เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นวิธีการเบื้องต้นในรักษาโรคเหงือกอักเสบและโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ

2) การผ่าตัดหากมีอาการของโรคปริทันต์ที่ค่อนข้างรุนแรง ทันตแพทย์อาจผ่าตัดเปิดร่องเหงือกเพื่อทำความสะอาดบริเวณดังกล่าว

3) ศัลยกรรมปลูกเหงือก การปลูกถ่ายเหงือกเป็นวิธีการแก้ปัญหาเหงือกร่น โดยวิธีการนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณและความหนาของเหงือกในบริเวณที่เกิดการความเสียหายหรือเหงือกร่น ทันตแพทย์อาจตัดเอาเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่น ๆ ในช่องปากใส่เข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อในบริเวณที่เสียหาย

4) ศัลยกรรมตกแต่งเหงือกเพื่อความสวยงาม การผ่าตัดเพื่อตกแต่งเหงือก โดยทั่วไปมักทำเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่รอยยิ้ม เช่น การเพิ่มความยาวของฟัน โดยปกติจะทำกับฟันหน้า เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับฟันที่เข้ารับการทำครอบฟันหรือ ทำวีเนียร์เพื่อความสวยงาม

การป้องกันโรคเหงือก เราสามารถป้องกันการเกิดโรคเหงือกได้ด้วยตนเองตามวิธีดังต่อไปนี้

1) แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เน้นแปรงบริเวณฟันและรอยต่อระหว่างฟันและเหงือก โดยควรใช้แปรงสีฟันหัวเล็กที่มีขนแปรงนุ่ม และใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก ๆ 3-4 เดือน เพราะแปรงสีฟันเก่าจะมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟันลดลงและอาจทำให้เหงือกเกิดการบาดเจ็บได้

2) ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาอย่างเคร่งครัดหากต้องใช้เครื่องมือทำความสะอาดฟันอย่างไหมขัดฟัน แปรงสำหรับซอกฟัน หรือเครื่องมืออื่น ๆ

3) ดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรับประทานอาหาร เพราะช่วยขจัดเศษอาหารตามซอกฟันและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดคราบพลัคที่ฟันได้

4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

5) เข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน

6) งดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่อาจทำให้ช่องปากเกิดการระคายเคืองและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในช่องปากได้